วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ( 15 ค่ำ เดือน 3 ) ประวัติวันวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชาปี 2559 นี้ วันมาฆบูชา ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.2559 นี้ตรงกับ วันจันทร์ 22 กุมภาพันธ์ 2559 ปีนี้ เป็นปีอธิกมาส ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

 

วันมาฆบูชา
ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)

ความหมายวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความสำคัญวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์

ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส

 

ประวัติความเป็นมาวันมาฆบูชา
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต

คำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ

  • “จาตุร” แปลว่า ๔
  • “องค์” แปลว่า ส่วน
  • “สันนิบาต” แปลว่า ประชุม

ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ ๔” กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย

     

  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

     

  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์

     

  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

มูลเหตุ
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธ ศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย

มีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัว กันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน

 

 

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี
บทสวดมนต์วันมาฆบูชา
อภิญญา 6
อภิญญา แปลว่า “ความรู้ยิ่ง” หมายถึง ปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐานอิทธิ วิธิ หมายถึง แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
ทิพพโสต หมายถึง มีหูทิพย์
เจโตปริยญาณ หมายถึง กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ หมายถึง ระลึกชาติได้
ทิพพจักขุ หมายถึง มีตาทิพย์
อาสวักขยญาณ หมายถึง รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
บทสวดมนต์ ในวันมาฆบูชาบทสวดอัชชายัง มาฆะปุณณะมี สัมปัตตา มาฆะนักขัตเตนะ ปุณณะจันโท ยุตโต ยัตถะ ตะถาคะโต อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ จาตุรังคิเก สาวะกะสันนิปาเต
โอวาทะปาฏิโมกขัง อุททิสิ ตะทาหิ อัฑฒะเตระสานิ สัพเพสังเยวะ ขีณาสะวานัง สัพเพ เต เอหิภิกขุกา สัพเพปิ เต อะนามันติตาวะ ภะคะวะโต สันติกัง อาคะตา เวฬุวะเน กะลันทะกะนิวาเป มาหะปุณณะมิยัง วัฑฒะมานะกัจฉายายะ ตัสมิญจะ สันนิปาเต ภะคะวาวิสุทธุโปสะถัง อะกาสิ อะยัง อัมหากัง ภะคะวะโต เอโกเยวะ สาวะกะสันนิปาโต อะโหสิ จาตุรังคิโก อัพฒะเตระสานิ ภิกขุสะตานิ สัพเพสังเยวะ ขีณาสะวานัง มะยันทานิ อิมัง มาฆะปุณณะมี นักขัตตะสะมะยัง ตักกาละสะทิสัง สัมปัตตา จิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะระมานา อิมัสมิง ตัสสะ ภะคะวะโต สักขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปะธูปะปุปผาทิสักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง ตานิ จะ อัฑฒะเตระสานิ
ภิกขุสะตานิ อะภิปูชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สะสาวะกะสังโฆ สุจิระปะรินิพพุโต คุเณหิ ธะระมาโน อิเม ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ
คำแปล

วันนี้มาประจวบวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ พระจันทร์เพ็ญประกอบด้วยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ขึ้น ในที่ประชุมสาวกสงฆ์พร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ ครั้งนั้น พระภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ไม่มีผู้ใดเรียกมาประชุมยังสำนักพระผู้มีพระภาค ณ เวฬุวนาราม เวลาตะวันบ่ายในวันมาฆปุรณมี, แลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ขึ้น ณ ที่ประชุมแห่งนั้น การประชุมสาวกสงฆ์ พร้อมด้วยองค์ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลายนี้ ได้มีครั้งเดียวเท่านั้น พระภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ล้วนแต่พระขีณาสพ บัดนี้เราทั้งหลายมาประจวบมาฆปุรณมีนักขัตต์สมัยนี้ ซึ่งคล้ายกับวันจาตุรงคสันนิบาตนั้นแล้ว มาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์นั้น ด้วยสักการะทั้งหลายมีเทียนธูปแลดอกไม้เป็นต้นเหล่านี้ ในเจดียสถานนี้ ซึ่งเป็นพยานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยสาวกสงฆ์ แม้ปรินิพพานนานมาแล้วด้วยดี ยังเหลืออยู่แต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จงทรงรับสักการะบรรณาการคนยากเหล่านี้ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ.

 

 


Was This Post Helpful:

0 votes, 0 avg. rating

Share: